ถ้าพูดเรื่อง Digital Marketing ตอนนี้ เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักคำว่า บทความ SEO (SEO Content) กันเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเป็นงานส่วนการทำ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับเว็บไซต์บน Google ได้จริง แต่สำหรับมือใหม่ที่ยังสงสัยว่า บทความ SEO คืออะไร? และมีวิธีเขียนยังไงให้ติดอันดับบน Google ดี ๆ
วันนี้ผม ตะวัน ขอพาไปรู้จัก บทความ SEO ให้มากขึ้นกันครับ ตั้งแต่ความหมาย ความแตกต่างจากบทความทั่วไป ประโยชน์ที่ได้ทั้งกับเว็บไซต์และตัวนักเขียนเอง รวมถึงเทคนิคเด็ด ๆ ในการเขียนบทความ SEO แถมมีตัวอย่างให้ดูเป็นแนวทางด้วย ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปอ่านกัน!
เลือกอ่านตามหัวข้อ
บทความ SEO (SEO Content) คืออะไร?

บทความ SEO (SEO Content) ก็คือ การเขียนบทความ ที่ผ่านกระบวนการสร้างและออกแบบมาเพื่อให้ถูกใจกับ Search Engine อย่าง Google ครับ เป้าหมายหลักคือ ต้องการให้บทความติดอันดับสูง ๆ บนหน้าผลการค้นหา เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนเห็นและคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของเรามากขึ้น
ซึ่ง บทความ SEO ที่ดี ไม่ได้วัดกันว่าใส่ Keyword เยอะแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนค้นหาได้ดีขนาดไหน ทำให้ยอมใช้เวลาอ่านบทความของเรา หรืออยู่ในเว็บไซต์เรานาน ๆ ได้ อันนี้ต่างหากครับที่จะบอก Search Engine ได้ว่า บทความของเรามีประโยชน์ และสมควรจะได้ไปอยู่ในอันดับดี ๆ
ระหว่างบทความ SEO กับ บทความทั่วไป
บทความทั่วไป ที่เขียนกันจะเน้นไปที่การสื่อสารสิ่งที่เราอยากบอก อยากเล่า ตามวัตถุประสงค์ของเราเป็นหลัก ไม่ว่าจะเพื่อให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ความบันเทิง หรือกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย โดยไม่ได้สนใจว่าจะติดอันดับในการค้นหา ขอแค่ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาที่เราส่งไปก็พอ
แต่ บทความ SEO นอกจากจะต้องเอาใจผู้อ่านแล้ว ยังต้องเอาใจ Google ด้วยครับ คือต้องทำให้ Google รู้ว่าเนื้อหาของเราเกี่ยวข้องกับคำค้นหาอะไร เพื่อจะได้เอาไปจัดหมวดหมู่ได้ถูก และดันบทความเราขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ดีบนหน้าผลการค้นหานั่นเอง
การเขียนบทความ SEO เลยเป็นการผสานระหว่างศาสตร์ด้าน SEO เข้ากับศิลป์ในการทำ Content ครับ เพื่อให้ได้บทความที่ไม่ใช่แค่อ่านสนุก เข้าใจง่าย แต่ต้องปรับให้ถูกใจ Google ตามหลัก SEO On-Page ด้วย
บทความ SEO เขียนเพื่ออะไร?
SEO Content สำคัญกับธุรกิจออนไลน์มาก ๆ เพราะสามารถสร้างประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้ง
- เพิ่ม Traffic เว็บไซต์ – เมื่อบทความ SEO เราติดอันดับสูง ๆ บน Google ก็จะยิ่งมีคนเห็นและคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์เราได้ง่ายและเยอะขึ้น ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อโฆษณาเอง
- สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก – การที่เรามีบทความดี ๆ มีประโยชน์ ก็เป็นการสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่าน ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจในแบรนด์ของเรา และถ้ายิ่งเขียนบ่อย ๆ ในสิ่งที่เราถนัด ก็จะยิ่งดูเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายตาลูกค้า มีโอกาสกลับมาหาเราอีกแน่นอน
- เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการ – เพราะเมื่อลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์ของเรา โอกาสที่จะตัดสินใจซื้อ สินค้า/บริการ ของเราก็จะมีมากขึ้นด้วย เท่ากับว่าบทความ SEO ก็สามารถสร้างยอดขายให้เราได้
นอกจากธุรกิจได้ประโยชน์แล้ว ในมุมของนักเขียนเอง (Content Writer) ก็ได้ประโยชน์จากการเขียนบทความ SEO เหมือนกันครับ เช่น
- เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้อ่าน – ใครๆ ก็อยากให้บทความตัวเองมีคนอ่านเยอะ ๆ ทั้งนั้น การเข้าใจหลักการ SEO สามารถช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้อ่านที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่เขียนลอย ๆ แล้วหวังจะให้มีคนมาอ่านเฉย ๆ
- เพิ่มมูลค่าให้ผลงาน – เพราะเมื่อบทความเราทำ SEO ดี มียอดวิวเยอะ จำนวนผู้ติดตามก็จะเพิ่มขึ้น และเมื่อพอมีชื่อเสียง ค่าตัวในการรับงานเขียนครั้งต่อ ๆ ไป ก็อาจมากขึ้นตามไปด้วย เห็นมั้ยครับว่า SEO Content ช่วยเพิ่มรายได้ให้นักเขียนได้จริง ๆ
- เป็นทักษะที่ตลาดต้องการ – หลายธุรกิจที่ทำออนไลน์ต่างก็อยากได้คนที่เขียน SEO Content เก่ง ๆ ทั้งนั้น เพื่อมาช่วยสร้างคอนเทนต์ดี ๆ ให้ติดอันดับ โอกาสการได้ค่าตัวที่ดีก็มีมากขึ้นนั่นเอง
ก่อนเขียนบทความ SEO ต้องรู้อะไรบ้าง?
ก่อนลงมือเขียนบทความ SEO สำคัญคือต้องรู้ก่อนว่า Google ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แนะนำให้เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ก่อนครับ
1. เข้าใจ Google Algorithm
Google Algorithm ก็คือกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ Google ใช้ในการจัดอันดับเว็บไซต์บนหน้าผลการค้นหาครับ มีปัจจัยเยอะมาก ทั้งเรื่องความเกี่ยวข้องของเนื้อหา ความน่าเชื่อถือ คุณภาพของข้อมูล ความสะดวกในการใช้งานเว็บไซต์ และอื่น ๆ
ถ้าเข้าใจหลักเกณฑ์เหล่านี้ ก็จะรู้ว่าต้องปรับแต่งบทความ SEO ของเราให้มีองค์ประกอบแบบไหน ถึงจะถูกใจ Google และได้ขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ บนหน้าผลการค้นหา
2. Keyword Research

ก่อนจะเขียนบทความ SEO เรื่องอะไร เราต้องมีการวิเคราะห์หาคำค้นหาหรือ Keyword ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เราอยากทำก่อน แนะนำเลือกคำที่มีคนค้นหาเยอะ (Search Volume สูง) แต่มีคู่แข่งน้อยหน่อย จะได้มีโอกาสไปแทนอันดับเขาได้
ที่สำคัญคือ ต้องเข้าใจด้วยว่า คนที่ใช้คำค้นหานั้นมีเจตนายังไง อยากรู้อะไร เพื่อที่จะมาวางโครงสร้าง กำหนดหัวข้อ และเขียนเนื้อหาบทความให้ตอบโจทย์ครับ ไม่งั้นก็ไม่ต่างอะไรจากบทความธรรมดาที่ไม่ได้ทำ SEO เลย
3. SEO On-Page

SEO On-Page เป็นการปรับแต่งองค์ประกอบต่าง ๆ บนหน้าเว็บและในบทความ SEO เพื่อให้ Google เข้าใจเนื้อหาของเราได้ง่าย และมีโอกาสขึ้นไปติดอันดับบน ๆ มากขึ้น
เรื่องนี้นักเขียนคอนเทนต์จำเป็นต้องรู้จริง ๆ ครับ ไม่ว่าจะการวาง Keyword ในเนื้อหา การจัดหัวข้อด้วย Heading Tag ที่ถูกต้อง การตั้งชื่อบทความให้ดึงดูด หรือการเขียนบทย่อ (Meta Description) ให้น่าคลิก ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับงานเขียนทั้งหมด
4. ประเภทของบทความ SEO

ปิดท้ายเรื่องนี้ นักเขียน SEO ควรจะเลือกเขียนบทความที่เหมาะกับการทำ SEO ด้วยนะครับ อย่างเช่น
- Evergreen Content – บทความที่มีเนื้อหาไม่ตกยุค อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ประโยชน์เหมือนเดิม ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม เช่น บทความ How to, บทความให้ความรู้ หรือบทความอธิบายความหมาย เหมาะมาก ๆ สำหรับการทำ SEO เพราะมีคนค้นหาตลอด ไม่ต้องอัปเดตบ่อย และทำอันดับได้นาน
- Topical Content – บทความที่พูดถึงเรื่องกระแสหรือเทรนด์ที่กำลังฮิตในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เช่น ข่าวดัง เหตุการณ์สำคัญ หรือเทศกาลต่าง ๆ บทความพวกนี้ส่วนมากจะมียอดวิวสูงในระยะสั้น ๆ แต่เวลาผ่านไปคนก็ลืม ทำ SEO ได้ยากกว่าแบบแรก เพราะระยะยาวไม่ค่อยมีใครสนใจ
ถ้าต้องการศึกษาเรื่องเหล่านี้แบบละเอียด และนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง สามารถดูรายละเอียดก่อนได้ที่ คอร์สเรียน SEO ครับ
10 เคล็ด(ไม่)ลับ เริ่มเขียนบทความ SEO ให้ติดอันดับดี ๆ
หลังรู้กันแล้วว่าต้องเตรียมตัวยังไงก่อนจะเริ่มเขียน บทความ SEO ก็ถึงเวลาลงมือเขียนแบบจริงจังกันแล้ว! ผมมีเทคนิคเด็ด ๆ ที่อยากแนะนำให้ลองเอาไปปรับใช้กันดู ตามนี้ครับ
1. หา Keyword ที่ใช่ ใช้ Keyword ให้เหมาะ
สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้เวลาจะเขียน บทความ SEO ก็คือการเลือก Keyword ที่ต้องเลือกให้ดี ใช้ให้เป็น และวางให้เหมาะ ถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด หลักการง่าย ๆ มีดังนี้
- ต้องเป็น Keyword ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ บริการ สินค้า หรือเรื่องที่ต้องการจะนำเสนอในบทความ
- เป็น Keyword ที่มีปริมาณคนค้นหา (Search Volume)
- การแข่งขันไม่สูงมาก (Low Keyword Difficulty) เพราะถ้าเลือก Keyword ที่ค่า KD สูง ๆ ก็จะไปแย่งอันดับเว็บอื่นยาก
- เลือก Keyword ที่สอดคล้องกับ Search Intent หรือเจตนาของคนค้นหา ว่าเขากำลังต้องการอะไร อยากรู้เรื่องอะไร และเขียนให้ตอบโจทย์
เมื่อเลือก Keyword แล้ว ต่อไปคือต้องรู้จักวิธีใช้ Keyword ครับ เพราะใช่ว่ายัดลงไปเยอะ ๆ แล้วจะดี แต่ต้องมีหลักการต่อไปนี้
Keyword Density (ความหนาแน่นของ Keyword)

คือสัดส่วนของ Keyword ที่ปรากฏในบทความ นับเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับจำนวนคำทั้งหมด เช่น ถ้าบทความ SEO เรามี 1000 คำ และพบ Keyword อยู่ 20 คำ ก็จะคิดเป็น Keyword Density 2% (20/1,000 x 100)
Keyword Density เกณฑ์ที่ดี แนะนำอยู่ที่ 1-2% ของจำนวนคำทั้งหมด (ก็คือประมาณ 10-20 คำ ต่อบทความ 1,000 คำ) ไม่ควรเกิน 5% เด็ดขาด เพราะถ้าเยอะไป Google อาจมองว่าเป็นการยัดคีย์เวิร์ดเกินจำเป็น (Keyword Stuffing) และโดนตัดคะแนนได้
การกระจาย Keyword ในบทความ

อีกเรื่องเป็นการวางตำแหน่งของ Keyword ให้กระจายทั่วบทความ SEO ครับ ไม่ใช่ทุ่มไปส่วนใดส่วนหนึ่งจุดเดียว ตำแหน่งที่ควรมี Keyword คือ
- Title หรือชื่อบทความ – ใน 60-70 ตัวอักษรของ Title ควรมี Keyword อย่างน้อย 1 คำ ไว้บอก Search Engine ว่าบทความนี้เกี่ยวกับอะไร
- Meta Description หรือ คำอธิบายสั้น ๆ ของบทความ – เป็น Snippet สั้น ๆ 150-160 ตัวอักษร ที่ควรมี Keyword หลักด้วย ซึ่ง Google จะนำมาแสดงใต้ผลการค้นหา ถ้าเขียนได้ดึงดูดก็จะทำให้คนอยากคลิกเข้ามาอ่าน
- ย่อหน้าแรกของบทความ (Introduction) – ในย่อหน้าแรกควรกล่าวถึง Keyword หลักไว้ด้วย เพื่อบอกผู้อ่านให้รู้ว่าเนื้อหาที่กำลังจะอ่านต่อเกี่ยวกับอะไร แนะนำเขียนให้กระชับ ไม่เวิ่นเว้อ อ่านแล้วไม่รู้สึกขัดหูขัดตาครับ
- หัวข้อย่อย (H2-H6) – หัวข้อย่อยแต่ละหัวข้อ ควรมีอย่างน้อย 1-2 หัวข้อที่มี Focus Keyword หรือ Related Keyword เพื่อเน้นให้ Search Engine เข้าใจว่าเนื้อหาบทความนี้เกี่ยวกับคำค้นหานั้นจริง ๆ
- เนื้อหาในบทความ – ส่วนของเนื้อหา Keyword ควรถูกกล่าวซ้ำในทุก ๆ 2-3 ย่อหน้า (ประมาณ 200-300 คำ) เพื่อกระตุ้น Search Engine ว่ายังอยู่ในบริบทนั้น ๆ อยู่ แต่ไม่ควรเยอะจนผิดธรรมชาตินะ
- Alt Text ของรูปภาพ – ในบทความควรมีรูปประกอบอย่างน้อย 2-3 รูป เพื่อความน่าสนใจและเพิ่ม Engagement Time ของคนอ่าน แต่ที่สำคัญคือ อย่าลืมใส่ Keyword ใน Alt Text ของรูปด้วย เพื่อบอกให้ Search Engine รู้ว่า รูปนี้เกี่ยวข้องกับเนื้อหายังไง
สรุปประเด็น คือการเขียนบทความ SEO จะต้องรู้และเข้าใจหลักการในการกระจาย Keyword ให้ทั่วบทความครับ ทั้ง Focus Keyword และ Related Keyword ไม่ให้มากหรือน้อยเกิน อ่านแล้วรู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่ฝืนยัดคำจนติดหูผู้อ่าน เพราะถึงจะสามารถหลอก Search Engine ได้ แต่ถ้าคนอ่านรู้สึกไม่ดี ก็คงไม่กลับมาที่เว็บเราอีกแน่ ๆ
2. Title และ Description น่าสนใจ

เทคนิคเขียนบทความ SEO ต่อมา คือ การตั้งชื่อบทความ (Title) และเขียนคำอธิบายสั้น ๆ (Meta Description) ครับ เพราะทั้งสองส่วนเป็นอย่างแรกที่ผู้ใช้ Search Engine จะเห็นตอนกำลังหาข้อมูล ถ้าทำให้น่าสนใจ ก็จะเพิ่มอัตราการคลิกเข้ามายังหน้าเว็บเรา หรือที่เรียกว่า Click-Through Rate (CTR) ได้
ทำไมต้องสนใจ CTR ด้วย?
ถ้าถามว่า ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับ CTR ด้วย คำตอบคือ Google เองก็ใช้ CTR เป็นหนึ่งในปัจจัยการจัดอันดับครับ บทความ SEO ที่มีอัตราการคลิกสูง (เช่นมี CTR มากกว่า 5%) แสดงว่าผู้ใช้มองแล้วว่าชื่อและคำอธิบายของเราโดนใจ น่าสนใจ ถึงได้คลิกเข้ามาเยอะ พอ Google รู้ว่าบทความเรามีคุณภาพ ก็จะดันให้ขึ้นไปอยู่อันดับที่ดี
ในทางกลับกัน ถ้าชื่อบทความเราไม่น่าสนใจ มี CTR ต่ำ (เช่นต่ำกว่า 1%) Google จะมองว่าเนื้อหาของเราไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้กำลังมองหา อันดับก็จะลดลง
การตั้งชื่อและเขียน Description ให้ได้ CTR สวย ๆ
- ใช้ Keyword ในชื่อเรื่อง – อย่าลืมใช้ Focus Keyword ในหัวเรื่องครับ เพราะผู้ใช้ก็กำลังค้นหาด้วยคำนี้อยู่ ถ้าเจอในผลการค้นหาก็มีโอกาสคลิกสูง ยังเป็นการบอก Google ด้วยว่า เนื้อหาของเรากำลังพูดถึง Keyword นี้แหละ
- ความยาวพอเหมาะ – จำนวนตัวอักษรของ Title แนะนำอยู่ประมาณ 55-65 ตัว ส่วนของ Description ควรอยู่ที่ 150-160 ตัว ไม่สั้นหรือยาวเกิน จะได้ไม่มีตัวหายไปบางส่วนตอนที่ Google แสดงผล
- ชวนให้อยากคลิก – ใช้การตั้งคำถาม, ใส่ตัวเลข, สร้างความรู้สึกเร่งด่วน, หรือบอกประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อกระตุ้นให้อยากคลิกเข้ามาอ่าน เช่น “5 เทคนิค xxx ภายใน 30 นาที”, “วิธีแก้ปัญหา yyy แบบเห็นผลทันใจ”
- อย่าเว่อร์ หรือหลอกให้คลิก – เรื่องสำคัญคือห้ามโฆษณาเกินจริงในหัวข้อ หรือใช้เทคนิคล่อให้คลิกเข้ามา แต่เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะนอกจากคนอ่านจะหงุดหงิดแล้ว ยังเสี่ยงโดนทำโทษจาก Google ด้วยครับ ให้เขียนตามเนื้อผ้า อย่าเว่อร์เกิน
3. URL สั้น กระชับ เข้าใจง่าย
ในการตั้งชื่อ URL ของบทความ SEO (บางคนเรียกว่า Slug) ให้ใช้คำที่สั้น กระชับ จำง่าย สื่อถึงเนื้อหาภายในได้ดี และให้มี Keyword หลักอยู่ในนั้นด้วยครับ
เช่น ถ้าเราเขียนบทความเกี่ยวกับ “10 เคล็ดลับการถ่ายภาพด้วยมือถือ” URL ควรเป็นแบบนี้
- www.example.com/10-mobile-photography-tips
- www.example.com/mobile-photography-tips
- www.example.com/easy-tips-for-mobile-photography
ไม่ใช่แบบนี้นะ
- www.example.com/1262022
- www.example.com/category/post/2022/12/uncategorized
เพราะนอกจากช่วยให้ URL อ่านง่าย คนจำได้แล้ว การมี Keyword ใน URL ก็ยังส่งผลดีต่อ SEO ด้วย Search Engine จะรู้ทันทีว่าหน้านี้เกี่ยวกับอะไร เพิ่มโอกาสที่ URL จะแสดงใน Snippet บน SERP ได้ด้วย
ส่วนเรื่อง URL ควรจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย? ส่วนตัวผมแนะนำให้ใช้ภาษาอังกฤษครับ เพราะถ้าใช้ URL ภาษาไทย เวลาแชร์ลิงก์ไปที่อื่น จะกลายเป็นตัวอักษรแปลก ๆ ที่อ่านไม่รู้เรื่อง ผู้ใช้จะไม่อยากคลิก นอกจากจะเสีย CTR แล้ว ยังส่งผลเสียต่อการทำ Social SEO อีกด้วย
4. ใช้ Heading Tags (H1-H6) ได้ถูกต้อง
Heading Tags หรือแท็ก H1, H2, H3 … คือ HTML Element ที่เอาไว้กำหนดลำดับความสำคัญของหัวข้อและหัวข้อย่อยในบทความ โดย H1 จะสำคัญที่สุด ตามด้วย H2, H3, H4, H5 และ H6 ตามลำดับ

การจัดโครงสร้างหัวข้อด้วย Heading Tags ที่ถูกต้อง สำคัญต่อ SEO มากครับ เพราะจะช่วยให้ Search Engine เข้าใจและจำแนกเนื้อหาต่าง ๆ ในบทความ SEO ได้ง่ายขึ้น มีหลักการใช้ตามนี้
- ใช้ H1 ครั้งเดียว – ใน 1 หน้า ควรมีแท็ก H1 แค่ตัวเดียวเท่านั้น คือ หัวข้อหลัก หรือชื่อของบทความ
- เรียง H2-H6 ตามลำดับชั้น – หัวข้อย่อยที่แตกออกมาจาก H1 ให้ใช้เป็น H2 ส่วน H3 ก็คือหัวข้อย่อยของ H2 ไล่ลงไปเรื่อย ๆ อย่าข้ามขั้นตอน เช่น H1 > H3 > H2 แบบนี้ไม่ถูกต้อง
- อย่าใช้ Heading Tags เพื่อความสวยงาม – Heading ไม่ใช่แท็กไว้จัดรูปแบบข้อความให้ดูโดดเด่นสวยงามนะครับ แต่เป็นแท็กที่มีความหมายเชิงโครงสร้างของเนื้อหา ห้ามใช้มั่ว ๆ
- มี Heading ย่อยอย่างน้อย 2-3 ตัว – บทความที่ดีควรมีการแบ่งเนื้อหาเป็นส่วน ๆ มีการใช้หัวข้อย่อยอย่างน้อย 2-3 ตัว เพื่อให้เนื้อหามีความน่าอ่าน ไม่รวมเป็นพืดยาวเหยียด
เมื่อใช้ Headings ถูกต้องแล้ว อย่าลืมแทรก Keyword เข้าไปด้วยนะ ประมาณ 1-2 หัวข้อย่อย เพื่อเน้นให้ Search Engine รู้ว่าบทความนี้มีเนื้อหาที่ตรงและครอบคลุมในคำค้นหานั้น เวลาขึ้นอันดับก็จะง่ายกว่าเว็บอื่น ๆ
5. ภาพประกอบและ Alt Text

เมื่อพูดถึงบทความ SEO หลายคนก็จะนึกถึงแต่ตัวหนังสือล้วน ๆ แต่จริง ๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือภาพประกอบครับ ทั้งช่วยให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น เพิ่มความน่าสนใจให้หน้าบทความ และช่วยให้ผู้อ่านอยู่ในหน้านานขึ้น
ทำ SEO กับรูปภาพในบทความยังไงได้บ้าง?
- ใช้รูปที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา – เลือกรูปที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเนื้อหา และมีขนาดเหมาะสม ไม่เล็กหรือใหญ่ไป อย่าใส่รูปแค่ความสวยงาม เพราะจะทำให้อ่านเข้าใจยากขึ้น
- ตั้งชื่อไฟล์รูปภาพ – ก่อนอัปโหลดรูป ให้เปลี่ยนชื่อไฟล์ก่อนครับ แนะนำใช้ชื่อที่บอกความหมายของรูปนั้น ๆ ได้ และใส่ Keyword ลงไปด้วย เช่น ผมเขียนบทความเกี่ยวกับกล้อง mirrorless ภาพประกอบก็ควรตั้งชื่อไฟล์เป็น canon-eos-m50-mirrorless-camera.jpg แทนที่จะเป็น IMG_0127.jpg
- เขียน Alt Text ให้กับภาพ – Alt Text คือ ข้อความอธิบายรูปภาพสั้น ๆ (Alternative Text) ที่จะแสดงแทนกรณีที่รูปโหลดไม่ขึ้น หรือถูกอ่านโดยเครื่องอ่านหน้าจอสำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากช่วยเพิ่มการเข้าถึงของเนื้อหาแล้ว ยังส่งผลดีต่อ SEO ด้วยการใส่ Keyword หลัก/รอง ลงไปด้วย (ต้องเกี่ยวกับเนื้อหาภาพนะ อย่าพยายามยัดจนผิดธรรมชาติ)

จากตัวอย่างภาพ Alt Text น่าจะเป็น สุนัขพันธุ์บีเกิลกำลังนั่งบนหญ้า หรือ beagle sitting on grass ครับ
การตั้งชื่อไฟล์และเขียน Alt Text ได้ดี ยังเพิ่มโอกาสให้รูปของเราไปแสดงบน Google Image Search ได้ด้วยนะ ช่วยเพิ่มทราฟฟิกให้กับเว็บได้เหมือนกัน
6. คุณภาพของเนื้อหา

Core หลักของบทความ SEO คงหนีไม่พ้นเรื่องคุณภาพเนื้อหาครับ เพราะถึงจะทำ On-Page SEO ครบทุกขั้นตอน แต่ถ้าบทความดันมีเนื้อหาที่ผิด ๆ ถูก ๆ อ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่ได้ประโยชน์ หรือไม่ตรงกับสิ่งที่ค้นหา ต่อให้ขึ้นไปอยู่หน้าแรก ก็คงอยู่ได้ไม่นานแน่ ๆ
ผมขอขยายความ “ คุณภาพของเนื้อหา ” ไปทีละประเด็น ๆ ตามนี้
ความยาวของบทความ
บทความ SEO ควรมีความยาวไม่ต่ำกว่า 300 คำ เพราะเนื้อหาที่น้อยเกินจะไม่เพียงพอจะอธิบายอะไรได้ครอบคลุม หรือตอบคำถามผู้อ่านได้ครบถ้วน ซึ่ง Google เองก็ให้ความสำคัญกับบทความที่มีรายละเอียด มีความยาว มากกว่าบทความสั้น ๆ
แต่ก็ ไม่ควรยาวมากเกินไป เพราะบทความที่ยืดยาวเหยียด เต็มไปด้วยข้อมูลไม่เป็นเรื่องเป็นราว จะทำให้คนอ่านเบื่อ กด Back ออกไป และส่งผลเสียต่อ SEO ที่แนะนำกำลังดีคือความยาว 700-2,000 คำครับสำหรับบทความ SEO
Original Content
Original Content คือ การเขียนเนื้อหาที่เป็นของตัวเองแท้ ๆ เป็นต้นฉบับ ไม่ได้คัดลอกมาจากที่อื่นครับ นอกจากจะเห็นถึงความตั้งใจในการสร้างผลงานแล้ว ส่วนมากจะเป็นเนื้อหาที่คุณภาพ มีความลึก และตอบโจทย์ได้มากกว่าเนื้อหาลอกเลียนแบบ
อีกเรื่องคือ บทความ SEO Original ยังช่วยป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหา Duplicate Content หรือปัญหาเนื้อหาซ้ำซ้อนได้ด้วย เพราะถ้าเรานำเนื้อหาของคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือแม้แต่ Copy & Paste ข้อมูลภายในเว็บตัวเองหลาย ๆ จุด Google ก็อาจจะมองว่าเป็น Duplicate และลงโทษไม่ให้ติดอันดับเลยก็ได้
ความถูกต้องของข้อมูล
ไม่ว่าจะเขียนบทความ SEO ประเภทไหน การมีข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และอ้างอิงได้ สามารถจะช่วยเพิ่ม Trust ให้กับบทความได้มาก ๆ ครับ ยิ่งถ้าเป็นบทความที่มีเนื้อหาเชิงวิชาการ หรือให้ความรู้ต่าง ๆ การมีข้อมูลที่ผิด ไม่ได้อัปเดต หรือไม่มีหลักฐานอ้างอิง อาจเสี่ยงทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของทั้งบทความและแบรนด์เราได้เลย
แนะนำว่า ในการหาข้อมูลมาเขียน ควรเลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือด้วย เช่น บทความวิชาการ งานวิจัย หรือข่าวจากสื่อที่มีชื่อ และอย่าลืมตรวจเช็ค 1-3 ครั้ง ให้มั่นใจก่อนเผยแพร่ด้วย
ภาษาที่อ่านง่าย
สุดท้ายคือภาษาที่ใช้ในการเขียนบทความ SEO ครับ ที่นอกจากจะต้องถูกตามหลักภาษา ตัวสะกด วรรคตอน เครื่องหมายแล้ว ก็ต้องเป็นภาษาที่อ่านง่าย สื่อสารชัดเจน และทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาได้ตรงประเด็นด้วย
โดยเฉพาะถ้าเป็นบทความที่มีเนื้อหาเฉพาะทาง ก็ยิ่งต้องเน้นการอธิบายให้เห็นภาพ ยกตัวอย่างให้เห็นจริง และพยายามเลี่ยงศัพท์เทคนิคหรือศัพท์แสงต่าง ๆ หรือถ้าต้องใช้ ก็ควรมีการอธิบายความหมายกำกับไว้ เพื่อไม่ให้ผู้อ่านงงหรือเข้าใจผิด
การเขียนบทความ SEO ให้อ่านง่ายเป็นเรื่องจำเป็น เพราะ Google มีเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ความยากง่ายในการอ่าน (Readability) ของเนื้อหาด้วย ส่งผลต่อการจัดอันดับในหน้านั้น ๆ
7. ทำ Internal Link และ External Link
Links หรือลิงก์ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน้าเพจต่าง ๆ แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- Internal Links หรือลิงก์ภายใน

การลิงก์จากหน้าหนึ่งในเว็บไปอีกหน้าหนึ่งภายในเว็บเดียวกัน ช่วยให้ Spider หรือโปรแกรมของ Google ที่คอยไต่ไปตามลิงก์เพื่อค้นหาและทำความเข้าใจเนื้อหาในเว็บไซต์เรา ทำงานง่ายขึ้น ครอบคลุม และเข้าถึงทุกหน้าได้แบบมีประสิทธิภาพ
เป็นการบอกให้ Search Engine รู้ด้วยว่า หน้าไหนสำคัญ? หน้าไหนเกี่ยวข้องกัน? และต้องให้น้ำหนักหน้าอะไรมากน้อยแค่ไหน? พูดง่าย ๆ คือยิ่งมีลิงก์ไปที่หน้าไหนมาก ความสำคัญของหน้านั้นก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นนั่นเอง
อีกประโยชน์ของ Internal Links คือ ช่วยเพิ่ม Engagement Time ให้กับเว็บไซต์ครับ เพราะเมื่อผู้อ่านเห็นลิงก์ไปหน้าบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่กำลังอ่านอยู่ ก็มีแนวโน้มจะคลิกไปอ่านต่อ ใช้เวลาบนเว็บไซต์นานขึ้น ส่งผลดีต่อ SEO แน่นอน
ส่วนการทำ Link อีกประเภท คือ …
- External Links หรือลิงก์ภายนอก

คือลิงก์ที่เชื่อมไปเว็บอื่น ๆ ครับ การทำ External Links ที่ดี สามารถจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับบทความ SEO ได้ เพราะการอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลภายนอกที่เกี่ยวข้อง เป็นการยืนยันว่าข้อมูลมาจากไหน มีที่มาที่ไป ไม่ได้เขียนขึ้นลอย ๆ
การลิงก์ไปเว็บที่มีชื่อเสียงและมี Domain Authority สูง ๆ เช่น เว็บข่าว เว็บสถาบันการศึกษา หรือเว็บองค์กรใหญ่ ๆ จะยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบทความได้ โดย Google จะมองว่า ในเมื่อบทความนี้มีการอ้างอิงถึงเว็บไซต์คุณภาพ เนื้อหาในบทความก็น่าจะมีประโยชน์และเชื่อถือได้เหมือนกัน
แต่ ไม่ควรทำ External Links มากเกิน จนรู้สึกว่าอ่านยาก วกวน หรือหลุดออกไปจากเนื้อหาหลักของบทความ แนะนำให้เลือกใส่เฉพาะลิงก์ที่จำเป็น และเกี่ยวข้องจริง ๆ เท่านั้น
8. เช็คความถูกต้องของบทความก่อน Publish
ก่อนจะกด Publish บทความ SEO สิ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาดคือการกลับมาอ่านทวน และเช็คความถูกต้องของบทความอีกครั้ง เรื่องที่แนะนำต้อง Double-Check ให้ดี มีตามนี้
- Main Keyword – มีการใช้ Focus Keyword ในบทความมากพอ ไม่มากจนผิดปกติ และกระจายทั่วอยู่ในทุกหัวข้อย่อยแล้วใช่ไหม?
- Title, Meta Description – มี Focus/Related Keyword ความยาวเหมาะสม อ่านแล้วน่าคลิกหรือไม่?
- Heading Tags – หัวข้อต่าง ๆ เรียงลำดับถูกต้อง ไล่จาก H1 จนถึง H6 ไม่ข้ามขั้น และมี Focus/Related Keyword ในหัวข้อหรือยัง?
- Images – รูปภาพที่ใช้ประกอบ เกี่ยวข้องกับเนื้อหา มีชื่อไฟล์และ Alt Text ?
- Links – ใส่ Internal Links ไปหน้าอื่น ๆ ในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทำ External Links ไปเว็บอื่นที่น่าเชื่อถือในบทความแล้ว?
- Grammar & Typo – ทำการเช็คคำผิด ตัวสะกด เครื่องหมายวรรคตอน ให้ถูกต้องทั้งหมด?
- Plagiarism – ตรวจเช็คให้แน่ใจว่าบทความนี้เป็น Original Content ของเราจริง ๆ ไม่ได้ลอกเลียนใครมา ไม่มั่นใจสามารถใช้ Tool ช่วยตรวจการคัดลอกได้
ถ้าใช้ WordPress ก็สามารถติดตั้ง SEO Plugin อย่าง Yoast SEO หรือ Rank Math เพื่อเช็คความเรียบร้อยขององค์ประกอบ On-Page ทั้งหมดได้ง่าย ๆ
สุดท้ายก่อนจะเผยแพร่บทความ อย่าลืมตรวจให้แน่ใจว่าหน้าบทความโหลดไวและไม่มีเออเร่อ ทั้งบนเวอร์ชั่น desktop และ mobile เพราะ Page Load Speed ก็เป็นอีกเรื่องที่ Google ให้ความสำคัญครับ
9. เผยแพร่บทความ และโปรโมตบน Social Media

หลัง Publish บทความ SEO งานของเราจะยังไม่จบครับ เพราะต่อให้บทความเราทำ SEO มาอย่างดี แต่ถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ ไม่มีใครเห็น ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร แนะนำว่า ให้รีบเอาลิงก์บทความไปแชร์ต่อตามโซเชียลมีเดียได้เลย ยิ่งโพสต์ในช่องทางที่มีกลุ่มคนสนใจหัวข้อที่เราเขียนอยู่แล้ว โอกาสมีคนเห็นและคลิกเข้ามาอ่านก็จะสูงขึ้น
การโปรโมตบทความผ่าน Social Media เป็นวิธีที่ช่วยให้เข้าถึงผู้อ่านได้เร็ว และแถมช่วยสร้าง “ Social Signals ” ได้ด้วย หนึ่งปัจจัยที่ Google ใช้ประกอบการจัดอันดับ
Social Signals คือ การวัดผลตอบรับจากโซเชียล เช่น ยอดไลค์ ยอดแชร์ ยิ่งถ้ามีไลค์/แชร์เยอะ แสดงว่าคนมีส่วนร่วมและสนใจบทความนี้มาก Google ก็จะเห็นว่ามีประโยชน์ อาจมีส่วนช่วยดันอันดับให้ดีขึ้นได้
10. ติดตามผลลัพธ์ และปรับ/อัปเดต บทความ SEO
หลังออนไลน์บทความ SEO ไปสักพัก ก็ถึงเวลาที่ต้องมาดูผลลัพธ์แล้วครับว่าทุกอย่างเป็นไปตาม kpi หรือเปล่า? สิ่งที่ต้องเช็คคือข้อมูลจำนวนผู้เข้าชม (Traffic), อัตราการคลิก (CTR), ระยะเวลาที่ผู้ใช้ใช้อยู่ในหน้านั้น (Time on Page) รวมถึงอันดับของเราบน SERP ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เบื้องต้นที่ใช้กันจะมี
Google Analytics

เครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเข้าชมเว็บของผู้ใช้ เราจะเห็นได้เลยว่ามีคนเข้ามาอ่านบทความ SEO เราเยอะแค่ไหน เข้ามาจากช่องทางไหน ใช้เวลาอ่านนานเท่าไหร่ มีอัตราการตีกลับ (Bounce Rate) เป็นยังไง?
ช่วยให้เราวัดผลได้ ว่าบทความมีคุณภาพพอที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้อ่านนาน ๆ หรือยัง และมีเรื่องไหนที่ต้องปรับแก้เพิ่มอีกบ้าง
Google Search Console

Search Console จะโฟกัสไปที่ประสิทธิภาพด้าน SEO โดยเฉพาะเลยครับ เราจะเห็นข้อมูลอย่างเช่น จำนวนครั้งที่ปรากฏบนหน้าผลการค้นหา (Impressions), อัตราการคลิก (CTR), อันดับเฉลี่ยของเราบนหน้าผลการค้นหา (Average Postion) รวมถึง Keyword ที่บทความ SEO เรากำลังติดอันดับด้วย
ช่วยให้รู้ว่าการทำ SEO ของเราไปถูกทางหรือยัง มีจุดไหนที่ต้องปรับแก้เพิ่มเติม และถ้าพบว่ายังมีบางจุดที่ทำให้ SEO ไม่ดี ก็ต้องรีบกลับมาทบทวนและอัปเดตบทความใหม่ครับ
ทิ้งท้ายจาก ตะวัน (SEO Specialist)
อ่านถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเข้าใจแล้วว่า บทความ SEO คืออะไร ต่างจากบทความปกติยังไง เขียนแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องอะไรก่อนลงมือเขียน และเคล็ดลับในการเขียนยังไงให้ติดอันดับบน Google
ผมขอสรุปคร่าว ๆ อีกทีนะครับ ว่าบทความ SEO ที่ดีควรประกอบไปด้วย
- การเลือกใช้และกระจาย Keyword ให้ทั่วบทความ
- ตั้งชื่อบทความ Title และ Meta Description ให้ดูน่าอ่าน น่าคลิก
- วางโครงสร้างหัวข้อด้วย Heading Tag
- ใส่รูปภาพและเขียน Alt Text กำกับ
- ทำเนื้อหาให้มีคุณภาพ มีคุณค่า และเป็นต้นฉบับ
- ใส่ Internal Link และ External Link
- เช็คความเรียบร้อยทุกอย่างก่อน Publish
- การโปรโมตบทความ และติดตามผลเพื่ออัปเดตปรับปรุง
ใครที่อ่านจบ แล้วได้เริ่มได้ลองเขียนบทความ SEO ก็อย่าลืมกลับมาเม้าท์มอยให้ฟังด้วยนะ ว่าเทคนิคไหนใช้แล้วเวิร์ก/ไม่เวิร์ก จะได้เอามาแชร์ให้ชาว SEO ไทยได้เรียนรู้ต่อ
แต่สำหรับใครที่ไม่มีเวลา ต้องการผู้เชี่ยวชาญมาดูแลเว็บไซต์ สามารถติดต่อเรา WarriorSEO เพื่อรับ บริการรับทำ SEO หรือขอ ปรึกษาการทำ SEO เบื้องต้นก่อนได้ครับ